พุทธศาสนิกชนตัวอย่าง

ศาสนิกชนตัวอย่าง

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา
ประสูติ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438
สิ้นชีพตักษัย11 สิงหาคม พ.ศ. 2533 (95 ปี)
ธรรมเนียมพระยศของ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนกระหม่อม/หม่อมฉัน
การขานรับกระหม่อม/เพคะ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 - 11 สิงหาคมพ.ศ. 2533) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ยมาภัย)

พระประวัติ

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ยมาภัย) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์ ได้ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) และข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิอีกบางท่าน และทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ นอกจากทรงศึกษาความรู้รอบตัวจากพระบิดา และจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ยังทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีด้วย
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทย และพระพุทธศาสนาจนทรงรอบรู้แตกฉาน นิพนธ์ชิ้นแรกซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง ศาสนคุณ ที่นิพนธ์ประกวดในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. 2472 และได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ 1 นิพนธ์เรื่องอื่น ๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประเพณีไทย สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฯลฯ และสารคดีอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญกรณียกิจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดมาเป็นระยะเวลานานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สิริชันษา 95 ปี

ผลงาน

ผลงานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล คือ ได้ทรงร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และทรงดำรงตำแหน่งประธานขององค์การนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึง พ.ศ. 2527 กิจการขององค์การ พ.ส.ล. ให้ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นการถาวรอยู่ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยดงกุก โซล ประเทศเกาหลี ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญา เมื่อ พ.ศ. 2510 ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อศานติของมวลมนุษยชาติ และได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พงศาวลี

อ้างอิง

  • กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย : สารัตถะทักษสัมพันธ์ เล่ม 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2546
  • [1]
  • กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2547. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9527-87-9
  • ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖ เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
  •   

    ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

    นักเรียนนอกผู้ใฝ่พุทธธรรม

    โดย......วิภาวินี รายงาน
    หนังสือธรรมจักษุ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2545
    คัดลอกจาก http://mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/February-45.html
    อนุสรณ์ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ #7147853
    เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2545 ได้มีข่าวที่สะเทือนใจชาวพุทธและวงการตุลาการเกิดขึ้นคือ ข่าวอสัญกรรมของ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี อดีตประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และอดีตตำแหน่งสำคัญอีกมากมาย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยวัย 94 ปี เศษ
    หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันจันทร์ที่ 7 ม.ค. ในประเทศไทยทุกฉบับลงข่าวพาดหัวออกพร้อมเพรียง ไทยรัฐพาดหัวข่าวว่า "สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม ไทยสูญเสียปูชนียบุคคล " ส่วนมติชน บรรยายถึงชีวิตอันงดงามของ ‘ สัญญา ธรรมศักดิ์ ’ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 8 ม.ค. 45 ได้ทำเป็นบทความพิเศษ หน้า 1 สดุดีเกียรติคุณของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม 2516 ที่เรารู้จักกันว่าเป็นวันที่ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค เพราะเกิดการประท้วงนองเลือดโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหาร ฯพณฯ สัญญา เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงเวลาคับขันนั้น และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์สัญญาฯ จึงเป็นผู้นำทางการเมืองคนเดียว ที่ถูกเรียกได้อย่างเต็มปากว่า นายกฯพระราชทาน
    ชีวิตของท่านมีเรื่องที่โลดโผนพิสดารน่ารู้อีกมาก แต่จะพักไว้แค่นี้ จะขอนำให้ท่านรู้จักประวัติส่วนตัวท่านอาจารย์ย่อๆ เสียก่อน
    อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ที่บ้านข้างวัดอรุณราชวราราม ตำบลบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น) มหาอำมาตย์ตรีพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) เป็นบิดา คุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์เป็นมารดา ท่านเกิดในครอบครัวผู้พิพากษา บิดาของท่านเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์
    ท่านเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนทวีธาภิเษก เมื่ออายุได้ 6 ขวบ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ พออายุได้ 11 ปี ท่านบิดาถึงอสัญกรรม ท่านเล่าว่าชีวิตท่านผกผันทันที ครอบครัวที่เคยสุขสบายต้องประสบความลำบากยากจน เคยนั่งรถเก๋งไปโรงเรียนจำต้องเดินไปโรงเรียน ท่านได้รับทุกข์ โทมนัสอย่างแสนสาหัสอีกครั้ง เมื่อนายบรรจง ธรรมศักดิ์ ซึ่งได้รับทุนของกรมรถไฟไปเรียนวิศวกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตที่สหรัฐ แต่ท่านก็เรียนต่อจนจบมัธยมหกที่โรงเรียน อัสสัมชัญ
    ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นนักเรียนล่าม ที่กระทรวงยุติธรรม และเรียนกฎหมายไปด้วยจนจบเป็นเนติบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2471 อายุ 21 ปี ในปีรุ่งขึ้น คือปี พ.ศ. 2472 เข้าสอบแข่งขันได้คะแนนสูงสุดและได้รับทุนเล่าเรียน “รพีบุญนิธิ” ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ ที่สำนักมิดเดิลเทมเปิล ศึกษาอยู่ 3 ปี ก็สอบไล่ได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2475
    ท่านเล่าว่า “ทุนรพีเก็บดอกเบี้ยให้เป็นค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนมันก็ได้น้อย เพราะเหตุว่า ดอกเบี้ยตอนนั้นถูก (เหมือนตอนนี้) นักเรียนทุนหลวงคนอื่นๆ ท่านให้ปีละ 450 ปอนด์ (ปัจจุบัน ปี 2545ให้ปีละ 19,640 ปอนด์)”
    เมื่อกลับจากอังกฤษมาเป็นผู้พิพากษา ท่านยังไม่ทิ้งพระพุทธศาสนายังศึกษาพุทธธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ความจริงท่านเริ่มสนใจพระพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ที่อังกฤษ ท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะสอบได้ทุนรพีบุญนิธิ ของเนติบัณฑิตยสภา ไปเรียนกฎหมายต่อนั้น ท่านได้อุปสมบทหนึ่งพรรษาที่วัดเบญจมพิตรฯ ได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมเท่าที่พระบวช 3 เดือนจะเรียนได้ โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ. 9) เมื่อครั้งเป็นพระเทพมุนี เป็นผู้สอนเอง การอุปสมบทครั้งนั้น เป็นการเพาะเชื้ออย่างสำคัญ
    เมื่อท่านกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ฟังว่าที่เมืองฝรั่งก็มีการสอนพระพุทธศาสนา ดำเนินการโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย ซึ่งได้ไปตั้งสำนักเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในกรุงลอนดอน ท่านจึงรู้สึกยินดีและตื่นเต้นเพราะไม่เคยนึกว่าจะมีมาก่อน ท่านจึงไปฟังเขาบรรยายธรรมทุกสัปดาห์ ผู้สอนเป็นพระภิกษุชาวลังกา 2 รูป และอังกฤษชาวพุทธอีกหลายคน
    ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้ร่วมกับชาวพุทธอีกหลายท่านก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้น (เดิมชื่อว่าพุทธธรรมสมาคม) ในสมัยเริ่มแรกท่านได้เป็นเลขานุการของสมาคมฯ นานหลายปี จนสุดท้ายท่านได้เป็นนายกสมาคมฯ เป็นเวลาถึง 10 ปี
    เมื่อท่านพ้นหน้าที่นายกสมาคมฯ ท่านได้ไปช่วยเป็นกรรมการบริหารองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhists) ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อว่า พ.ส.ล. โดยทำหน้าที่เป็นรองประธาน และได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การฯ ในปี พ.ศ. 2527 แทนท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกูล จนถึงปีพ.ศ. 2541 ท่านได้ขอลาออกเพราะสุขภาพไม่แข็งแรงและคุณแผน วรรณเมธี ได้เป็นแทน จนถึงปัจจุบัน
    น.พ. จักธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บุตรชายคนที่ 2 คนเล็ก ของศาสตราจารย์สัญญา กล่าวถึงพ่อว่า…พ่อไม่เพียงเป็นที่รักเคารพของลูก ๆ แต่ยังเป็นที่รักนับถือของคนไทยทั่วไป พ่อเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ เที่ยงตรง สมถะ เปี่ยมคุณธรรม ยึดมั่นในอุดมการณ์ตุลาการ และมีความแน่วแน่มั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก
     “พ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาก และตลอดระยะเวลา 6 ปีที่พ่อป่วยจะได้รับพระราชทานดอกไม้อังคารเว้นอังคารมิได้ขาด” น.พ. จักธรรม เผยอีกว่า…พ่อเป็นคนรักครอบครัวเป็นที่สุด ครอบครัวเราจะอยู่ที่บ้านทั้งหมด ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ และพ่อมักจะพร่ำสอนลูกว่าให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่ อย่าเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก พ่อเป็นลูกชาวสวน ฝั่งธนฯ ความสุขของพ่อคือการมีชีวิตที่เรียบง่าย ตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี พ่อไม่ชอบมีรถขบวน ไม่ชอบมีคนห้อมล้อม พ่อชอบนุ่งผ้าขาวม้า และชอบสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส และไปนอนที่สวนโมกข์เสมอ ช่วงป่วยพ่อทำวิปัสสนาบนเตียงตลอด 6 ปี โดยได้อธิฐานว่าอย่าให้ท่านเป็นภาระของใคร อย่าให้ท่านทรมาน ขอให้ท่านได้ตายไปอย่างสงบ พ่อจึงได้เขียนขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อท่านสิ้นลมหายใจลงในสมุดบันทึกไว้ 10 ปีก่อนว่า ต้องไปทำอะไรในวัง ระบุให้นำเงินของท่านที่มีอยู่มาดำเนินการอย่างไรบ้าง
     “พ่อปรารถนาที่จะเห็นคนไทยทุกคนเป็นคนดี มีความสุข และอยากให้ประเทศไทยมีความร่มเย็น ไม่อยากเห็นเยาวชนและเด็กวัยรุ่นตกเป็นทาสวัตถุนิยมให้ช่วยกันรักษาความเป็นไทยไว้ตลอดไป”
    ณ วันนี้แม้จะสิ้นศาสตราจารย์สัญญาไปแล้ว แต่คุโณปการที่ศาสตราจารย์สัญญา ได้ทำไว้จะยังคงอยู่ต่อไป และขณะนี้ก็กำลังมีโครงการจัดทำหนังสือ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” เกิดขึ้น โดยเป็นแนวคิดเดิมของคณะทำงานมูลนิธิศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการจัดทำหนังสือ “84 ปี สัญญา ธรรมศักดิ์” ไปแล้ว
    วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้รับหน้าที่เขียนและเป็นบรรณาธิการหนังสือ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” เผยว่า
    ... โครงการนี้เดิมต่างคนต่างช่วยกันหาข้อมูลที่ตัวเองรู้ คนโน้นนิดคนนี้หน่อย รวบรวมกันมาตลอด จนปลายปีที่ผ่านมาก็ไดรับการทาบทามให้รับผิดชอบหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิตผู้ชายคนหนึ่ง
    เพื่อที่จะนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ในตัวเขาที่ไม่ได้เกิดจากหน้าที่การงานหรือฐานะที่ร่ำรวย แต่เป็นความยิ่งใหญ่จากการกระทำที่เสียสละเพื่อแผ่นดินเกือบชั่วชีวิต
    งานเขียนชิ้นนี้คงจะไม่สำเร็จแน่ หากไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากเครือญาติ และผู้ใกล้ชิด ศาสตราจารย์สัญญา โดยเฉพาะญาติทางฝ่ายท่านผู้หญิงพงา ภริยาศาสตราจารย์สัญญา
    “ได้เริ่มงานนี้ราวเดือน พ.ย.ปีกลาย ตอนนี้ก็เขียนไปได้ประมาณ 5 บทแล้ว จากที่คิดไว้ว่าน่าจะมีประมาณ 40 บท โชคดีอยู่อย่างที่ว่าแม้จะไม่ได้รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้จักกับญาติทางฝ่ายท่านผู้หญิงพงา เลยได้ข้อมูลบางส่วนที่บางคนยังไม่รู้ อีกทั้งเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เราก็เป็นนักข่าวอยู่แล้วและได้ร่วมรับรู้วีรกรรมของท่าน รู้จักชื่อท่านมานาน เลยไม่ยากที่จะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนที่ต้องการ”
    สำหรับงานเขียนตั้งใจไว้ว่าจะให้มีครบทุกรส ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตรักและชีวิตการทำงาน เพื่อให้คนได้รู้จักท่านครบในทุกแง่มุม ว่าท่านทำอย่างไรจึงสามารถชนะใจหญิงที่ท่านรัก ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการที่ท่านทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
    ในหนังสือชีวประวัติที่เขียนถึงอาจารย์สัญญานั้น เราจะไม่ชูให้เห็นว่าท่านเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานฎีกา เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่เราจะเน้นให้เห็นถึงชีวิตผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาเพื่อเป็นลูกที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดี แล้วก็เป็นประชากร เป็นคนไทยที่ดี ที่นำคุณงามความดีมาสู่ประเทศอย่างใหญ่หลวง
    หนังสือ“ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” มีกำหนดจัดทำให้แล้วเสร็จตามโครงการ ในเดือน ก.ย. 2545 นี้ นี่จะเป็นบันทึกชีวประวัติปูชนียบุคคลที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง..
    เป็นบันทึกสุดท้าย“นายกฯ พระราชทาน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น

    หน่วยที่ 5 วิธีการทางประวัติศาสตร์กับการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

    วิธีการทางประวัติศาสตร์กับการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ใบงาน แบบทดสอบหลังเรียน