ชาดก
นันทิวิสาลชาดก
ความเป็นมา พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภคำเสียดสีของภิกษุเหล่าฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า มนุญฺญเมว ภาเสยฺย ดังต่อไปนี้ สมัยนั้น ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกัน พากันด่าว่าเสียดสีภิกษุที่มีศีลบริสุทธิ์ ด่าด้วยอักประการต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลายจึงพากันกราบทูลความนั้นแด่พระพุทธเจ้า ๆ จึงรับสั่งให้ภิกษุฉัพพัคคีย์มาเฝ้า ตรัสถาม เมื่อทราบความจริงแล้วจึงทรงตำหนิโทษ แล้วตรัสสอนว่า ขึ้นชื่อว่าคำหยาบมีแต่จะทำความพินาศให้แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ชอบใจคำหยาบเช่นเดียวกัน แล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่า ดังนี้ ในอดีตกาลพระเจ้าคันธารราชครองราชสมบัติในนครตักสิลาแคว้นคันธารพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นโคของพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งได้มาตั้งแต่ที่โคนั้นเป็นโคหนุ่มและตั้งชื่อว่านันทิวิสาลพราหมณ์ได้ให้ความรักและเลี้ยงดูโคนันทิวิสาลอย่างดีประดุจเป็นบุตรคนหนึ่ง เมื่อโคเติบใหญ่ขึ้นก็มีความคิดว่า พราหมณ์ได้ให้การอุปถัมภ์เลี้ยงดูตนเป็นอย่างดียิ่ง สมควรจะทำการตอบแทนบ้าง วันหนึ่ง โคนันทิวิสาลจึงแจ้งความประสงค์แก่พราหมณ์และให้พราหมณ์ไปท้าพนันโควินทกเศรษฐีว่าโคนันทิวิสาลสามารถลากเกวียนที่ผูกติดต่อกันไปได้ต้องร้อยเล่มเกวียน พราหมณ์จึงไปท้าพนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์พันหนึ่ง เมื่อตกลงกันแล้วเขาจึงเอาเกวียนบรรทุกด้วยทราย กรวดและก้อนหินเต็มทั้งร้อยเล่มแล้วตั้งเป็นแถวผูกเชือกขันชะเนาะให้ติดเนื่องกันเป็นคันเดียว เสร็จแล้วก็อาบน้ำให้โคนันทิวิสาล ประพรมด้วยกระแจะจันทร์เจิมและคล้องด้วยพวงมาลัยที่คอ เทียมโคตัวเดียวที่แอกเกวียนเล่มแรก ส่วนตนเองก็ขึ้นนั่งที่แอกเกวียน แล้วยกปฏักขึ้นตวาดด้วยคำหยาบเป็นต้นว่า เฮ้ยเจ้าโคโกง เจ้าจงลากไป เฮ้ยเจ้าโคโกง เจ้าจงพาไปให้ได้ โคนันทิวิสาลได้ยินเช่นนั้นจึงคิดว่าท่านพราหมณ์นี้เรียกเราผู้ไม่โกงเลยว่าเป็นผู้โกง จึงยืนเฉยเสีย พราหมณ์จึงแพ้พนันเศรษฐีจำต้องนำทรัพย์หนึ่งพันมาให้ เมื่อกลับถึงบ้านก็นอนเศร้าโศกอยู่ ส่วนโคนันทิวิสาลเมื่อกลับมาถึงบ้านเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเช่นนั้น จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี้ ท่านให้ได้การเลี้ยงดูเราอย่างดี และเราก็ไม่เคยกระทำความเดือดร้อนรำคาญใด ๆ ให้แก่ท่าน ไฉนท่านจึงกล่าวว่าเราเป็นผู้โกงไปได้ เอาเถอะ ท่านจงไปท้าพนันกับเศรษฐีอีกครั้งหนึ่งและอย่าเรียกเราว่าเป็นโคโกงอีกเลย พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงไปท้ากับเศรษฐีด้วยทรัพย์เป็นทวีคูณ เมื่อถึงวันที่กำหนดได้ผูกเกวียนร้อยเล่มให้ติดเป็นเล่มเดียวกัน ประดับตกแต่งโคแล้วเทียมเข้าที่แอกเกวียนเล่มต้นนั้น เมื่อเทียมเสร็จแล้วจึงขึ้นนั่งที่เอกเกวียนแล้วลูบหลังโคพร้อมกล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ จงลากไป พ่อมหาจำเริญ จงฉุดไปเถิด ฝ่ายโคนันทิวิสาลได้ยินเช่นนั้น ก็สามารถลากเกวียนร้อยเล่มนั้นจากเกวียนที่อยู่ท้ายสุดไปตั้งอยู่ที่ตรงเกวียนเล่มต้นตั้งอยู่ได้ ทำให้พราหมณ์ชนะพนันเศรษฐีได้ทรัพย์ถึงสองพันและ มหาชนเป็นอันมากก็ได้ให้ทรัพย์แก่โคนันทิวิสาลและทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของพราหมณ์เช่นเดียวกันคติธรรมจากนันทิวิสาลชาดก บุคคลเมื่อจะพูดเจรจากับใคร ๆ ควรจะพูดเจรจาแต่คำที่เว้นโทษ 4 ประการ ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ ควรพูดด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน น่าชอบใจ ไพเราะเสนาะโสต น่ารักใคร่เท่านั้น สุวรรณหังสชาดก มีคำเริ่มต้นว่า ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ ดังต่อไปนี้ อุบาสกคนหนึ่งในพระนครสาวัตถี ปวารณากระเทียมกับภิกษุณีสงฆ์ไว้ และสั่งกำชับคนเฝ้าไร่ว่าหากภิกษุณีทั้งหลายพากันมาจงถวายให้รูปละสองสามกำเถิด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกภิกษุณีเมื่อต้องการกระเทียมก็จะพากันไปที่บ้านหรือไร่ของเขาคราวหนึ่งมีวันมหรสพกระเทียมในเรือนของอุบาสกหมดลงภิกษุณีชื่อว่าถุลลนันทาพร้อมด้วยบริวารพากันไปที่เรือนของอุบาสกเมื่ออุบาสกนิมนต์ให้ไปเอากระเทียมที่ไร่ จึงพากันไปไร่ขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้ประมาณ ถูกคนเฝ้าไร่ต่อว่า ต่อมาถูกพวกภิกษุณีด้วยกัน และพวกภิกษุทั้งหลายติเตียน และเมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตำหนิ แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่าในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยแล้วได้สมรสกับหญิงสาวคนหนึ่ง ได้มีธิดาสามคนชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทำไปเกิดเป็นหงษ์ทอง และมีญาณระลึกชาติได้ หงษ์ทองได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและพวกธิดามีประการต่าง ๆ ก็คิดสงสาร จึงบินไป ณ ที่นั้น เกาะที่ท้ายกระเดื่องพร้อมกับสลัดขนทองให้หนึ่งขนแล้วบินหนีไป นางพราหมณีพร้อมธิดาก็นำขนทองนั้นไปขายเลี้ยงชีวิต หงษ์ทองก็มาเป็นระยะ ๆ สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขนและนางก็ได้นำไปขายเป็นประจำตลอดมา จนมีฐานะมั่งคั่งขึ้นมีความสุขความสบายตามสมควรอยู่มาวันหนึ่งนางได้ปรึกษากับลูก ๆ และเห็นว่าขึ้นชื่อว่าพวกดิรัจฉานรู้จิตใจได้ยาก หงษ์ทองอาจจะไม่มาสลัดขนในที่นี้อีก จำเป็นที่จะต้องจับหงษ์ทองมาถอนขนให้หมด เมื่อลูก ๆ ไม่ตกลง แต่เพราะนางมีความโลภมาก ครั้นวันหนึ่งเมื่อหงษ์ทองมาสลัดขนให้ก็ได้รวบหงษ์ทองนั้นไว้พร้อมกับถอนขนออกจนหมดแต่เพราะหงษ์ทองมิได้ปลงใจให้ทำให้ขนเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนขนนกยางไปเสียหมด หงษ์ทองเมื่อถูกถอนขนไปจนหมดก็ไม่สามารถกางปีกบินได้ นางจึงเอาใส่ตุ่มใหญ่เลี้ยงไว้ ขนที่งอกขึ้นใหม่ก็กลายเป็นขาวไปหมด ครั้นเมื่อขนขึ้นเต็มที่แล้วหงษ์ตัวนั้นก็จึงบินหนีไปพระพุทธเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ถุลลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็มีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน และเพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม ภิกษุณีใดฉันกระเทียม ภิกษุณีนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ คติธรรมจากสุวรรณหังชาดก ได้แก่ บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้โลภมาก มิได้เป็นที่รักเจริญใจ แม้แก่มารดาบังเกิดเกล้า ไม่อาจจะยังผู้ที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ไม่อาจยังผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ไม่อาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้บังเกิด หรือลาภที่เกิดแล้วก็ไม่อาจกระทำให้ยั่งยืนได้ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น